คณะอนุกรรมาธิการการปกครองฯ ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Phuket Smart City

Post By: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต/ข่าว/ภาพ
คณะอนุกรรมาธิการการปกครอง การบริหาราชการแผ่นดินและการพัฒนาระบบราชการในคณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงพื้นที่ ภูเก็ต  ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Phuket Smart City เน้นย้ำ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ 14 มกราคม 2562 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินคนที่ 1 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครองการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาระบบราชการพร้อมด้วยนายจาดุร อภิชาตบุตร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ ติดตามการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตตามแนวทางPhuket Smart City

นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินคนที่ 1 และในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครองการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า การพัฒนาเมืองสิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยเฉพาะในเรื่องของPhuket Smart City จะต้องเตรียมความพร้อมให้ประชาชนได้เข้าถึงและรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และขอชื่นชมจังหวัดภูเก็ตที่ได้ดำเนินการ Phuket Smart Cityมีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงานถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่มีสภาพเป็นเกาะมีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3.3 แสนไร่ มีเกาะ 33 เกาะมี 3 อำเภอประกอบด้วยอำเภอเมืองภูเก็ต,อำเภอกะทู้และอำเภอถลางมี 17 ตำบล 19 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งเป็น 1 อบจ.,1 เทศบาลนคร ,2 เทศบาลเมือง, 9 เทศบาลตำบล และ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลมีประชากรตามหลักฐานทะเบียนราษฎร์ประมาณ 4 แสนคนเศษเป็นพี่น้องมุสลิม 28%  มีประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวรวมทั้งชาวต่างชาติที่ประกอบอาชีพอยู่ในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 2 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างในภาคเอกชน ด้านบริการเป็นภาคหลักมีนักท่องเที่ยว มาจากทั่วโลก ปีละมากกว่า 14 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 4 แสนล้านบาทโดยเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ตมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามจัดเป็น World Class Destination เช่น ชายหาดป่าตอง,หาดกะตะ หาดกะรนมีสนามบินนานาชาติที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มีเที่ยวบินเฉลี่ยวันละ 317 เที่ยว

โดยจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการพัฒนาทุกด้าน ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามันเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวการศึกษานานาชาติ การสาธารณสุข การบริการมี Marina ที่ได้มาตรฐานในระดับโลกมีการเชื่อมโยงการพัฒนากับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันทั้งระนอง,พังงา,กระบี่,ตรังรวมทั้งจังหวัดสตูล นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาด้านต่างๆเช่นการพัฒนาเมือง Smart City และยังเป็นเมืองที่ได้รับการรับรองจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์วิทยาการด้านอาหาร Creative City of Gastronomy ที่เป็นเมืองแรกของอาเซียน

จังหวัดภูเก็ตกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาในระยะยาวประกอบด้วย 4 M และ 3S ได้แก่
1. Marina Hup   เพื่อ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลของภูมิภาค
 2. Medical Hup เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
3.Mice City พัฒนาเป็นศูนย์กลางของการประชุมและการจัดนิทรรศการนานาชาติ
 4.Manpower Development พัฒนาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ
 5. Sport Tourism พัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา  
6. Smart City พัฒนาไปสู่ความทันสมัยเป็นศูนย์กลางเมืองดิจิตอลและรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างแท้จริง
7. Sustainable Development พัฒนาโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสมดุลในทุกด้าน

สำหรับโครงการ Phuket Smart City นั้นได้มีจุดเริ่มต้น
จากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 เห็นชอบไปจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่เป็น Super Cluster ด้าน Digital ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบCluster ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เห็นชอบให้จังหวัดภูเก็ตร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนิน โครงการ Phuket Smart City

สำหรับผลการดำเนินการPhuket Smart City ในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตดำเนินการใน 7 ด้านประกอบด้วย

1. Smart Economy มีการจัดตั้งPhuket Smart City  Innovation park เพื่อเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup ขึ้น
2. Smart Tourism มีการดำเนินการ Public Free Wifi ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
3. Smart Safety มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อใช้ในเรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวการป้องกันอาชญากรรมและการจราจรมีการนำระบบรถ Mobile Unit เคลื่อนที่มาใช้ในงานของตำรวจ
4. Smart Environment มีการนำระบบ IOT Environment Sensors มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
5. Smart Education การให้ความรู้และอบรมด้านDigital แก่กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะการดำเนินการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่เช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ตเป็นต้น
6. Smart Government มีการติดตั้ง Command Center เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการและเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้บริหารสามารถสั่งการแบบ Real Time  ได้ ปัจจุบันมีการเชื่อมต่อระบบกล้อง CCTV เข้ากับ Command Center จากสถานีตำรวจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีการเชื่อมต่อระบบ Sensors ต่างๆเข้ากับ Command Center ด้วย
7. Smart Healthcare ระบบรถฉุกเฉินปฏิบัติการด้านการแพทย์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบข้อมูล Internet และ Application ได้

โอกาสนี้นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยได้นำเสนอการปรับปรุงผังเมืองรวมภูเก็ตตามแนวทางPhuket Smart City กรณีศึกษาการออกแบบส่วนเศรษฐกิจเจ้าฟ้าภูเก็ต โดยมีการคาดการณ์มูลค่าทรัพย์สินอนาคตจากแบบจำลองที่แปลงค่าจากผังเมืองรวมภูเก็ตด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ  เดินทางไปตรวจเยี่ยมชมศูนย์ Command Center ซึ่งอยู่ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์ควบคุมระบบ เชื่อมโยง ระบบกล้อง CCTV ที่ติดตั้งตามจุดต่าง  ติดตาม ตรวจสอบข้อมูล และ ดูแลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต/ข่าว/ภาพ

Related content